เทคนิคการปลูก และดูแลงาให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

งา เป็นพืชน้ำมันที่สำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะทวีความสำคัญขึ้นทุกปี เนื่องจากเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตและการตลาดสูง สามารถปลูกขึ้นง่าย ลงทุนน้อย ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี เกษตรกรนิยมปลูกงาก่อน และหลังการทำนา หรือหลังจากการเก็บเกี่ยวพืชหลัก การปลูกงามีทั้งในสภาพไร่และสภาพนา ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของแต่ละท้องถิ่น เมล็ดงาและน้ำมันงามีคุณค่าทางด้านโภชนาการสูง เมล็ดงาประกอบด้วยน้ำมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นหลายชนิดในเมล็ดงาจะมีน้ำมันงาประมาณร้อยละ 47-60 มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง จึงเหมาะที่จะนำมาใช้บริโภคเพราะช่วยกันรักษาระดับโคเลสเตอรอลในร่างกาย ป้องกันไม่ให้เกิดหลอดเลือดแข็งตัวหรือเส้นเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจขาดเลือด

การผลิตงาของประเทศไทยพบว่ามีพื้นที่ปลูกงาประมาณ 381,000 ไร่ ผลผลิตรวม 35,000 ตัน โดยผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 55 ส่งออกไปต่างประเทศมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาทส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 45 ใช้ภายในประเทศ การผลิตงาของประเทศไทย ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ฤดูสำหรับปลูกงา
1. ต้นฤดูฝน เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน-มิถุนายน ส่วนใหญ่จะปลูกในพื้นที่นาก่อนการปลูกข้าว มีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ แหล่งปลูกงาต้นฤดูฝนได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ลำพูน น่าน และสุราษฎร์ธานี

2. ปลายฤดูฝน เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ส่วนใหญ่จะปลูกในสภาพพื้นที่ไร่หรือที่ดอน ปลูกหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่ มีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ แหล่งปลูกงาปลายฤดูฝนที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก สพรรณบุรี เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และเลย

การพิจารณาเลือกพื้นที่ปลูกงา
1.เป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร
2.เป็นพื้นที่ดอนหรือสูง สามารถระบายน้ำได้สะดวกไม่มีน้ำขังแฉะ
3.ความเป็นกรด-ด่างของดิน ควรอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ไม่เป็นดินเปรี้ยวหรือดินเค็ม
4.ไม่เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกงาติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายๆ ปี เพราะจะทำให้งาเกิดโรคระบาดได้ง่าย

การเตรียมดิน
การเตรียมดินเป็นปัจจัยที่สำคัญในการปลูกงาเนื่องจากเมล็ดงามีขนาดเล็ก ควรมีการเตรียมดินให้ร่วนซุย จะช่วยให้งางอกได้ดีและมีความสม่ำเสมอ การไถพรวนจะมากหรือน้อยครั้งขึ้นอยู่กับโครงสร้างและชนิดของเนื้อดินถ้าเป็นดินร่วนทรายจะไถ 1-2 ครั้ง ส่วนดินเหนียวจะต้องไถมากครั้งกว่าดินร่วนโดยไถ 1-2 ครั้ง ส่วนดินเหนียวจะต้องไถมากครั้งกว่าดินร่วนโดยไถ 2-3 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้ละเอียดจะให้ผลผลิตสูงกว่าไถเพียงครั้งเดียว

การปลูกงาต้นฤดูฝนโดยอาศัยน้ำฝนช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม ปริมาณความชื้นในดินมีน้อย จะต้องรอให้ในตกเสียก่อนจึงไถเตรียมดินปลูก สังเกตได้โดยเมื่อฝนตกทำให้ดินเปียกชื้นลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 20 เซนติเมตร หรือลองใช้จอบขุดลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 20 เซนติเมตร หรือลองใช้จอบขุดลึกลงไปประมาณ 1 หน้าจอบ และพบดินยังมีความเปียกชื้นอยู่ สามารถไถพรวนปลูกงาให้เสร็จได้ภานใน 3 วัน โดยไถดะ 1 ครั้ง แล้วหว่านเมล็ดงา และคราดกลบทันทีจะเป็นผลดีกับการปลูกงา เพราะว่าหลังจากนั้นดินจะแห้งเร็วความชื้นจะไม่เพียงพอที่จำทำให้งางอกได้

การปลูกงาช่วงกลางฤดูฝน-ปลายฝน ปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอทำให้เตรียมดินได้สะดวก โดยไถประมาณ 2-3 ครั้ง ก่อนการหว่านเมล็ดงาหลังจากนั้นจังไถกลบอีก 1 ครั้ง จะทำให้งางอกได้สม่ำเสมอ แต่วิธีนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่าการไถหว่าน-คราดกลบ ประมาณ 2 เท่าตัว

สำหรับในเขตที่มีแหล่งน้ำหรือในเขตชลประทานใช้วิธีปล่อยน้ำเข้าในแปลงปลูก ดินร่วนทรายปล่อยทิ้งไว้ 2 คืน ดินเหนียวทิ้งไว้ 1 คืน ตากดินไว้ 1-3 แดด แล้วจึงไถเตรียมดินปลูกต่อไป

การเตรียมดินปลูกงาหลังจากไถพรวนดินดีแล้วควรแบ่งพื้นที่ปลูกแปลงย่อย กว้างแปลงละ 3-5 เมตร เพื่อให้สามารถเดินเข้าไปปฎิบัติดูแลรักษาได้สะดวก และช่วยระบายน้ำ เมื่อมีฝนตกชุกจะช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมขัง ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

วิธีการปลูกงา
วิธีการปลูกงามี 2 วิธี คือ

1. การปลูกแบบหว่าน
เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกงาด้วยวิธีนี้ โดยหลังจากเตรียมดินดีแล้วจะใช้เมล็ดงาหว่านให้กระจายสม่ำเสมอในแปลงปลูก แล้วคราดกลบทันทีเพราะถ้ารอจนหน้าดินแห้ง หรือเมล็ดถูกแดดเผานานๆ เมล็ดงาจะตกมัน ทำให้ไม่งอกหรืองอกไม่สม่ำเสมอ สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่หว่านจะใช้ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับสภาพการเตรียมดินและความเคยชินของเกษตรกร ในการหว่านอาจใช้ทรายละเอียด ขี้เถ้า แกลบ หรือมูลสัตว์ ผสมในอัตร 1:1 เพื่อช่วยให้เมล็ดงากระจายสม่ำเสมอมากขึ้น ปัจจุบันมีการนำเครื่องปลูกงาแบบหว่านมาใช้ในเขตจังหวัดลพบุรี เป็นเครื่องปลูกที่ใช้ติดท้ายรถแทรกเตอร์ ตัวเครื่องประกอบด้วยผาน 4 ผาน ถ้าบรรจุเมล็ดพันธุ์ และมีช่องปล่อยเมล็ดพันธุ์ให้งาออกตามอัตราที่กำหนดไว้ เมื่อเมล็ดงาตกลงพื้นดินผานทั้ง 4 ผานจะไถดินตาม ทำให้เมล็ดถูกกระจายออก และถูกดินกลบ ต้นงาที่งอกขึ้นมาจะกระจายตัวคล้าย ๆ กับการหว่าน เครื่องปลูกงา เมื่อพ่วงกับรถไถเดินตามขนาดเล็ก จะใช้เวลาปลูกประมาณ 20 นาทีต่อไร่ หากพ่วงกับรถไถขนาดใหญ่จะใช้เวลาเพียง 10 นาทีต่อไร่

2. การปลูกแบบโรยเป็นแถว
ในการทำร่องสำหรับโรยเมล็ด ส่วนใหญ่ใช้คราดกาแถว จะช่วยให้ทำแถวปลูกได้เร็วขึ้น ระยะแถวปลูก 50×10 เซนติเมตร หรือใช้เครื่องปลูกชนิด 4 แถว ระยะปลูก 30*10 เซนติเมตร หรือในแถวยาว 1 เมตร ให้มีต้นงา 10-20 ต้น หลังจากปลูกแล้ว 15-20 วัน ให้ทำการถอนแยกให้ได้ระยะต้นตามความต้องการ อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกด้วยวิธีนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่าวิธีหว่าน เสียเวลาและแรงงานมากต้องกำจัดวิชพืชระหว่างแถวปลูก แต่จะสะดวกในการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การปลูกแบบเป็นแถวนี้จะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกด้วยวิธีหว่าน

การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยเคมีที่ใช้กับงา ในดินทรายหรือดินร่วนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับดินร่วนปนดินเหนียว ใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ การใส่ปุ๋ยในโตรเจนควรใส่ขณะที่งาจะออกดอกในปริมาณที่ไม่มากเกินไปเพราะปปุ๋ยในโตรเจนจะทำให้งาแก่ข้าและปริมาณน้ำมันในเมล็ดลดลง

คัดลอกและวางโค้ดนี้ในเว็บไซต์ของคุณ

วิธีการใส่ปุ๋ยเคมีให้แก่งา พิจารณาจากวิธีการปลูก ดังนี้
1.ปลูกแบบหว่าน ให้ใช้ปุ๋ยหว่านแล้วคราดกลบก่อนปลูก
2.ปลูกแบบโรยเป็นแถว ให้ใช้ 2 วิธี คือ
-โดยใช้ปุ๋ยทั้งหมดโรยก้นร่องแถวปลูกก่อนปลูก
-โดยแบ่งให้ 2 ครั้ง ครั้งละเท่าๆ กัน

ครั้งแรก:โรยก้นร่องของแถวปลูกก่อนปลูก
ครั้งที่สอง:โรยข้างแถวปลูกเมื่องาอายุไม่เกิน 15 วัน หลังจากงอก
ควรมีการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือไถกลบปุ๋ยพืชสด ในดินในช่วงเตรียมดินก่อนปลูกงาจะทำให้ได้ผลผลิตสูง เพราะ งาตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้ดีกว่าปุ๋ยเคมี

การดูแลรักษา
งา เป็นพืชที่ต้องการการดูแลรักษาน้อยกว่าพืชชนิดอื่นเพียงแต่เตรียมดินให้ถูกวิธีและเหมาะสม และปลูกงาให้งอกอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถจะให้ผลผลิตพอสมควรแล้วส่วนใหญ่เกษตรกรที่ปลูกงาเมื่อหว่านเมล็ดงาแล้วก็ปล่อยทิ้งจนถึงเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม หากได้มีการปฏิบัติดูแลรักษาบ้างก็จะช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ควรจะเริ่มจากการปลูกงาเป็นแปลงใหญ่ๆ ขนาด 3-5 เมตร ให้มีร่องระหว่างแปลงเพื่อจะได้ตรวจแปลงได้สะดวกเมื่อมีโรคและแมลงระบาดสามารถที่จะป้องกันกำจัดได้ง่ายและรวดเร็ว

การเก็บเกี่ยว
การสังเกตระยะสุกแก่ของงา เมื่องาเจริญเติบโตเต็มที่ถึงระยะสุกแก่จะต้องรีบเก็บเกี่ยว เนื่องจากฝักงาโคนต้นที่แก่ก่อนจะแตกออกทำให้เมล็ดร่วงเสียหาย การสุกแก่ของงาสามารถสังเกตได้ดังนี้

1.ดอก เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยวดอกสุดท้ายจะร่วง
2.ใบ จะมีสีเหลืองและร่วงเกือบหมด
3.ฝัก เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ประมาณ 1 ใน 4 ของต้น
4.เมล็ด มีลักษณะค่อนข้างเต่งตึงและเปลี่ยนสีตามพันธุ์ สำหรับงาดำให้แกะฝักที่ 3 จากยอดออกมาดู ถ้าเมล็ดมีสีน้ำตาลแสดงว่าแก่เก็บเกี่ยวได้

อายุ โดยนับอายุของงาแต่ละพันธุ์ เช่น งาขาว พื้นเมืองเลย อายุ 110-120 วัน งาขาวพื้นเมืองพันธุ์ชัยบาดาลอายุ 80-85 วัน งาขาวพันธุ์ร้อยเอ็ด 1 อายุ 70-75 วัน งาขาว พันธุ์มหาสารคาม 60 อายุ 80-85 วัน งาดำนครสวรรค์ อายุ 95-100 วัน งาดำ มก. 18 อายุ 85-90 วัน งาดำ มข.2 อายุ 70-75 วัน งาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1 มข.3 พิษณุโลก และสุโขทัย อายุ 80-85 วัน เป็นต้น การพิจารณาอายุของงานี้จะต้องพิจารณาความชื้นของอากาศขณะนั้นประกอบด้วยถ้าฝนตกชุกอากาศมีความชื้นสูงงาจะสุกแก่ช้า แต่ถ้าอากาศแห้งจะเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าอายุจริง 5-10 วัน เช่น งาขาวพันธุ์ร้อยเอ็ด 1 ถ้าอากาศแห้งแล้งจะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 60-65 วัน เป็นต้น

วิธีการเก็บเกี่ยวงา
การเก็บเกี่ยวใช้เคียว หรือมีดเกี่ยวต่ำกว่าฝักล่างเล็กน้อยถ้าปลูกในดินทรายหรืองาต้นเล็กจะใช้วิธีถอนทั้งต้นก็ได้ ทั้งนี้พยายามอย่าให้ดินทรายเกาะติดต้นงา เพราะจะปนอยู่กับเมล็ดมากเวลาเคาะ ทำให้คุณภาพของงาลดลง ปัจจุบันมีเครื่องเกี่ยวงาแบบวางราย ทำให้เกี่ยวได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

วิธีการบ่มงา
หลังจากการเก็บเกี่ยวงาแล้วนำมาบ่มโดยนำต้นงามากองรวมกัน หันปลายยอดเข้าหากัน วางซ้อนเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้ฝักปลายยอดเหลื่อมกันเล็กน้อย (กองบ่มทั่วไปมีขนาดกว้าง *ยาว*สูง ประมาณ 2*3*1 เมตร) กองบ่มควรอยู่ในที่กลางแจ้งและที่สูงในแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมและอากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อกองเรียบร้อยแล้วนำฟางข้าว ใบไม้ ใบหญ้า ปิดทับกองประมาณ 5-7 วัน ถ้าอากาศแห้งเกินไปควรรดน้ำกองบ่มบ้าง หลังจากการบ่มแล้วฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลปนดำเสมอกัน ส่วนใบจะเปลี่ยนเป็นสีดำและหลุดร่วงไป จากนั้นจึงทำการมัด ตาก เคาะ และทำความสะอาดเมล็ดต่อไป

ข้อดีของการบ่มงา
1.การปลูกงาจำนวนมากๆ ถ้าเก็บเกี่ยวช้าฝักจะแตกเมล็ดร่วงเสียหาย การบ่มจะช่วยให้เกษตกรมีเวลาเก็บเกี่ยวงาได้มากขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวพร้อม ๆ กัน ได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่
2.การบ่มงาทำให้ใบร่วง สะดวกต่อการมัดเป็นกำและตั้งตากได้ง่าย
3.การบ่มทำให้สามารถเคาะได้เร็วขึ้น เพราะงาที่บ่มจะแห้งเร็ว เนื่องจากใบร่วงหมด และใช้เวลาตากน้อยประมาณ 1-2 วันก็สามารถเคาะได้ แต่งาที่ไม่บ่มต้องใช้เวลาตากถึง 4-5 วัน
4.การบ่มช่วยให้ฝักงาส่วนโคนต้นและส่วนปลายอ้าออกพร้อมกัน จึงประหยัดเวลาแรงงานในการเคาะ โดยเคาะเพียง 1-2 ครั้งก็ได้เมล็ดงาเกือบทั้งหมด แต่ถ้าไม่บ่มจะต้องเคาะ 3-4 ครั้ง เนื่องจากฝักงาอ้าออกไม่พร้อมกัน
5.การบ่มงาช่วยลดความเสียหายอันเนื่องจากมีฝนตกในขณะตากงา เพราะการบ่มงาจะใช้เวลาตากน้อยกว่าไม่บ่ม

การบ่มงานี้จะทำการบ่มเฉพาะงาดำและงาดำแดงส่วนงาขาวมีสีหมองคล้ำคุณภาพเมล็ดต่ำ สำหรับงาที่จะนำไปบริโภคเป็นอาหารไม่ควรบ่มเช่นงาดำพันธุ์ มข.18 เพราะจะทำให้มีกลิ่นดิน เศษพืชติดไปกับเมล็ดงา หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวงาครบอายุเก็บเกี่ยวให้นำไปตาก 3-4 แดด แล้วเคาะนวดได้ทันที

การมัด ตาก เคาะ และทำความสะอาดเมล็ดงา หลังจากบ่มแล้ว ทำการเคาะให้ใบร่วงออกหมดเหลือแต่ฝักและต้นงา ใช้ตอกหรือเชือกฟางมัดงาเป็นกำๆ ขนาดกำมือแล้วนำงา 3 กำ มามัดที่ปลายต้นงารวมเป็นมัดเดียวกันแล้วนำไปตั้งตาก ซึ่งจะแยกมัดงาเป็น 3 ขา ช่วยพยุ่งไม่ให้มัดงาล้มเวลาตั้งตาก หรือจะใช้วิธีการทำราวตากโดยมัดงาเป็นกำขนาดใหญ่แล้วแบ่งครึ่ง แขวนตากไว้บนราว วิธีนี้จะได้เมล็ดงาที่สะอาดกว่าวิธีแรก เพราะต้นงาไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นดิน หลังจากตากไว้ 2-3 วัน ก็นำไปเคาะ โดยนำมัดงาที่ตากจนฝักแห้งและปลายฝักอ้าออกแล้วคล่ำมัดงาลงภาชนะที่เตรียมไว้ ใช้ไม้เคาะมัดงาเบาๆ เมล็ดงาก็จะร่วงลงบนภาชนะโดยง่าย นำไปตากแดดอีก 1-2 แดด แล้วนำไปเคาะใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นทำความสะอาดเมล็ดงา โดยฝัดแยกเอาสิ่งเจือปนออกแล้วบรรจุลงกระสอบนำไปเก็บหรือจำหน่ายต่อไป

การเก็บเมล็ดพันธุ์
โดยปกติเมล็ดพืชน้ำมันจะเสื่อมความงอกในช่วงระยะเวลาอันสั้นแต่เมล็ดงานั้นสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน จากการทดสอบพบว่า เมล็ดงาสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 17 เดือน โดยเก็บไว้ในถุงพลาสติกชนิดหนาปิดปากถุงด้วยความร้อน เมล็ดยังมีความงอกถึง 82 เปอร์เซ็นต์ และเก็บใส่ถุงปุ๋ย ถุงผ้า และถุงกระดาษ นาน 8 เดือน เมล็ดงายังมีความงอกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

เมล็ดงาที่จะเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ ควรเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพดี ที่ได้จากการเคาะเคาะครั้งแรก เพราะเมล็ดจะแก่และสมบูรณ์เต็มที่ จากนั้นนำไปตากให้แห้งก่อนเก็บในภาชนะปิดที่มีความชื้นต่ำ

Facebook Comments